วินัย

วินัย

           วินัย หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ สำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม  เป็นแบบแผน อันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน  วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย
การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ถ้าขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งและลักลั่นก็จะเกิดขึ้น ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากเรื่อง ไม่มีความสงบสุข  การงานที่ทำก็จะเสียผล
ดอกไม้จำนวนมากที่วางรวมกัน หากวางอยู่ระเกะระกะกระจัดกระจาย ก็จะด้อยค่าลง  ทั้งยังทำให้รกรุงรังอีกด้วย แต่เมื่อเรานำดอกไม้เหล่านี้มาร้อยรวมเข้าด้วยกันด้วยเส้นด้าย ดอกไม้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นพวงมาลัยอันงดงาม เหมาะที่จะนำไปประดับตกแต่งให้เจริญตาเจริญใจ ถ้าประชาชนแต่ละคนเป็นเสมือนดอกไม้แต่ละดอก เส้นด้ายที่ใช้ร้อยดอกไม้ให้รวมกันยู่ออย่างมีระเบียบงดงามนั้นก็เปรียบเสมือนวินัย
วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมคน  ให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร  คือทำคนให้เป็นคน ฉลาดใช้นั่นเอง
ชนิดของวินัย
คนเรามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ ๒ อย่าง  คือร่างกายกับจิตใจ
ร่างกาย  ของเราขึ้นอยู่กับระบบโลก  ต้องพึ่งโลก ร่างกายจึงจะเจริญ
จิตใจ   ของเราขึ้นอยู่กับระบบธรรม   ต้องพึ่งธรรม จิตใจจึงจะเจริญ
เพื่อให้ชีวิตและจิตใจเจริญทั้ง ๒ ทาง  เราจึงต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกันทั้ง ๒ ด้านด้วย
ผู้ที่ฉลาดรู้        ก็ต้องศึกษาให้รู้ ทั้งทางโลกและทางธรรม
ผู้ที่ฉลาดทำ     ก็ต้องทำให้เป็นให้ถูกต้อง ทั้งทางโลกและทางธรรม
เช่นกัน ผู้ที่ฉลาดใช้ ก็ต้องมีวินัยทางโลกและวินัยทางธรรมคอยช่วยกำกับความรู้และความสามารถเอาไว้
 วินัยทางโลก
วินัยทางโลก  หมายถึง  ระเบียบสำหรับควบคุมคนในสังคมแต่ละแห่ง  เป็นข้อตกลงของคนในสังคมนั้นที่จะให้ทำ หรือไม่ให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งบางครั้งเราเรียกชื่อแยกแยะออกไปหลายอย่าง เช่นกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา ข้อบังคับ ระเบียบ ธรรมเนียม ประเพณี คำสั่ง ประกาศ กติกา ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่าวินัยทางโลกทั้งสิ้น
 วินัยทางธรรม
เนื่องจากเราชาวพุทธมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนั้นวินัยทางพระ-พุทธศาสนาจึงมี ๒ ประเภท คือ
๑.อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ออกบวช ได้แก่ วินัยของพระภิกษุ สามเณร
๒. อาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ครองเรือน ได้แก่ วินัยของชาวพุทธชายหญิงทั่วๆไป
 อนาคาริยวินัย
จุดมุ่งหมายสูงสุดของนักบวช คือความหมดกิเลส ผู้จะหมดกิเลสได้ต้องมีปัญญาอย่างยิ่ง ผู้จะมีปัญญาอย่างยิ่งได้จะต้องมีสมาธิอย่างยิ่ง ผู้จะมีสมาธิอย่างยิ่งได้  จะต้องตั้งอยู่บนฐานของศีลอย่างยิ่ง  คืออนาคาริยวินัย ๔ ประการ  อันเป็นพื้นฐานของความบริสุทธิ์   

อาคาริยวินัย
วินัยสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ที่สำคัญ คือ ศีล ๕ ได้แก่
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

http://www1.freehostingguru.com/thaigenx/mongkhol/mk09.htm

                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น